วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

โปรแกรมช่วยคิดคะแนนจากข้อสอบกลาง (TestMD V.2)

โปรแกรมช่วยคิดคะแนนจากข้อสอบกลาง นี้ อ้างอิงการเก็บคะแนน 70:30 สามารถดัดแปลงได้ สามารถ Download ได้จาก Link นี้ ......โปรแกรม TestMD V.2 ...

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

การนับทศวรรษ ศตวรรษ และสหัสวรรษ

การแบ่งช่วงเวลาเป็น ทศวรรษ  ศตวรรษ  และสหัสวรรษ

     การที่วัน เวลาผ่านไปทุกวันและมนุษย์ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้เวลายาวนานกว่าหนึ่งปี  เมื่อพูดถึงอดีตหรืออนาคตที่ห่างจากช่วงเวลาปัจจุบันมาก  ทำให้มนุษย์ต้องมีการกำหนดช่วงเวลาเพื่อให้สามารถกล่าวถึงช่วงเวลากว้าง ๆ ได้  การแบ่งช่วงเวลาของมนุษย์มีหลายแบบ  ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การนำไปใช้ประโยชน์  เช่น  การแบ่งช่วงเวลาเป็น  วัน  เดือน  ปี  วินาที  นาที  ชั่วโมง  พุทธศักราช (พ.ศ.)  คริสต์ศักราช (ค.ศ.)  เป็นต้น

     เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้ว  หรือช่วงเวลาที่ยังมาไม่ถึงเป็นเวลานาน ๆ เช่น  10 ปีก่อน 10 ปีข้างหน้า 100 ปีก่อน  100 ปีข้างหน้า  1000  ปีก่อน 1000 ปีข้างหน้า  ได้มีการกำหนดคำขึ้นมาเพื่อกล่าวถึงช่วงเวลากว้าง ๆ ในรอบ 10 ปี  รอบ 100 ปี  และรอบ 1000 ปี  ให้เข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน  ได้แก่  คำว่า "ทศวรรษ  ศตวรรษ  และสหัสสวรรษ"

          ทศวรรษ  หมายถึง  ช่วงเวลาในรอบ 10 ปี  เริ่มนับตั้งแต่ปีที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0  เป็นปีแรกของทศวรรษ  และนับไปสิ้นสุดที่เลข 9  เรานิยมใช้ทศวรรษในการบอกช่วงเวลาทางคริสต์ศักราช
          แม้ว่าการใช้พุทธศักราชจะไม่นิยมพูดถึงช่วงเวลาเป็นทศวรรษ  แต่เราสามารถใช้ทศวรรษในการกล่าวถึงช่วงเวลา 10 ปีได้  เช่น

          ทศวรรษที่ 40  ทางพุทธศักราช  หมายถึง  ช่วงเวลาระหว่าง  พ.ศ. 2540 - 2549

          ตัวอย่างการใช้ทศวรรษ  เช่น
               -  ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา  บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  หมายถึง  ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
               -  มีการคาดการณ์ว่า  ในทศวรรษหน้าทุกครัวเรือนจะมีคอมพิวเตอร์ใช้  หมายถึง  ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

          ศตวรรษ  หมายถึง  ช่วงเวลาในรอบ 100 ปี  เริ่มนับตั้งแต่ปีที่ขึ้นต้นด้วยเลข 1 เป็นปีแรกของศตวรรษ  จนถึง 100  เช่น
               พุทธศตวรรษที่ 1  หมายถึง  ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 1 - พ.ศ. 100
               พุทธศตวรรษที่ 2  หมายถึง  ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 101 - พ.ศ. 200
               คริสต์ศตวรรษที่ 18 หมายถึง  ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1701 - ค.ศ. 1800
               คริสต์ศตวรรษที่ 20 หมายถึง  ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1901 - ค.ศ. 2000

          เรานิยมกล่างถึงช่วงเวลาเป็นศตวรรษทั้งแบบพุทธศักราชและคริสต์ศักราช  ตัวอย่างเช่น
               -  ปัจจุบันพระพุทธศาสนามีอายุเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 26  หมายถึง  ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2600
               -  ปัจจุบัน  โลกเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 แล้ว  หมายถึง  ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 2001 - ค.ศ. 2100

          สหัสวรรษ  หมายถึง  ช่วงเวลาในรอบ 1000 ปี  เริ่มนับตั้งแต่ปีที่ขึ้นด้วยเลข 1  เป็นปีแรกของสหัสวรรษ  จนถึงปีที่ลงท้ายด้วยหลัก 1000 ตัวอย่างเช่น
               สหัสวรรษที่ 1 หมายถึง ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.1 - ค.ศ.1000
               สหัสวรรษที่ 2 หมายถึง ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.1001 - ค.ศ.2000
               สหัสวรรษที่ 3 หมายถึง ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.2001 - ค.ศ.3000
               พุทธสหัสวรรษที่ 3 หมายถึง ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2001 - พ.ศ.3000

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559

13 เทคนิคทำให้เด็ก ตั้งใจเรียน

ธรรมชาติของเด็กนั้นจะให้ นั่งนิ่งๆ หรือมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆ เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก ดังนั้นครูจึงต้องใช้เทคนิควิธีที่จะช่วยดึงสมาธิของเด็กให้กลับมาสนใจอยู่ กับสิ่งที่ครูต้องการให้เด็กเรียน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ที่ครูต้องการให้เกิดขึ้นกับตัว ของเด็ก


ข้อแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยให้ครูเรียกสมาธิและความตั้งใจเรียนของเด็กให้กลับคืนมาได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ   

  1. ครูต้องแสดงออกถึงพลังและความกระตือรือร้นอยู่เสมอในเวลาที่อยู่กับเด็ก อาทิเช่น อย่าเอาแต่ยืนนิ่งๆ อยู่กับที่ ให้เดินไปเดินมาบ้างและคอยพูดคุยสื่อสารกับเด็กอยู่เสมอ ครูควรปฏิบัติทั้งสองเรื่องนี้ควบคู่กันไป พร้อมกับหากิจกรรมที่สนุกสนานให้เด็กทำ
  2. การเรียนการสอนควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมด้วย ไม่ควรยืนพูดหน้าชั้นอย่างเดียว และครูควรตั้งคำถามบ่อยๆ ทั้งคำถามที่ต้องการคำตอบและไม่ต้องการคำตอบ ในการสาธิตอะไรต่างๆ ให้เด็กดู ครูอาจเป็นคนเริ่มต้นคำถามโดยให้เด็กเป็นคนต่อจนจบ ครูอาจจะทำอะไรบางอย่างให้เด็กดู แล้วถามว่า “ทำไมครูถึงทำอย่างนั้น?” มากกว่าการอธิบายเองทั้งหมด
  3. ครูควรทำสิ่งต่อไปนี้บ่อยๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ คือให้เด็กๆ เขยิบมานั่งใกล้ๆ ครูในขณะที่ครูกำลังจัดการเรียนการสอนหรือแสดงอะไรบางอย่างให้เด็กดู อาจให้เด็กนั่งขัดสมาธิบนพื้นก็ได้
  4. เมื่อเด็กตั้งคำถาม ให้ครูโยนลูกไปให้เพื่อนนักเรียนด้วยกันเป็นคนตอบ โดยครูควรแน่ใจว่าเด็กคนแรกที่ครูเรียกเป็นคนที่รู้คำตอบนั้นๆ ดี เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการเรียนรู้จากกันและกัน
  5. ให้ครูชี้ตัวเด็กเมื่อต้องการให้เด็กตอบคำถาม แทนที่จะใช้วิธีเรียกชื่อ เนื่องจากเด็กจะไม่สนใจเรียนจนกว่าจะได้ยินครูเรียกชื่อตนเอง การใช้วิธีชี้ตัวจะทำให้เด็กๆ ทุกคนในห้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องที่กำลังเรียน
  6. ในกิจกรรมที่ครูเคยเรียกเด็กให้ร่วมแสดงความเห็น ให้ครูเรียกเด็กคนนั้นซ้ำอีก มิเช่นนั้นเด็กที่ถูกเรียกให้ตอบหรือครูขอความเห็นแล้ว จะหมดความสนใจในการเรียนทันที การเรียกซ้ำจะช่วยให้เด็กตั้งใจเรียนต่อไป
    หาก เด็กคนใดแสดงท่าทีกระตือรือร้นอยากแสดงออก ครูควรมอบหมายให้เด็กเป็นคนรับผิดชอบงานบางอย่าง อาทิ การเล่นเกมในห้อง หรือการทำกิจกรรมบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดเด็กคนดังกล่าวจะเรียนรู้ทักษะความรับผิดชอบ
  7. ในขณะที่ครูกำลังสาธิตหรือแสดงบางสิ่งให้เด็กกลุ่มหนึ่งดู ให้ครูตั้งคำถามหรือดึงเด็กจากกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยโดยไม่ให้รู้ตัวล่วงหน้า เพื่อที่เด็กทุกกลุ่มจะได้ตั้งใจเรียนแม้ว่าครูจะไม่ได้สื่อสารกับกลุ่มเหล่านั้นโดยตรงก็ตาม
  8. เมื่อถึงเวลาที่ครูต้องเรียกเด็กๆ กลับมาประจำที่หลังจากที่ทำงานกลุ่มแล้ว วิธีที่ดีคือ ไม่ต้องใช้คำพูด แต่ให้ใช้สัญญาณดีดนิ้วให้จังหวะแทน เด็กบางคนจะเริ่มสังเกตสัญญาณดังกล่าวและปฏิบัติตาม ในไม่ช้าเด็กๆ ทั้งชั้นก็เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามพร้อมกัน อย่างไรก็ดี ครูไม่ควรใช้วิธีปรบมือให้สัญญาณ เพราะเสียงจะดังเกินไปและอาจทำให้เด็กตกใจได้
  9. ครูไม่ควรผูกขาดการเรียกชื่อเด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นผู้เลือกเพื่อนในชั้นเรียนเองบ้างด้วย
  10. พยายามใช้ประโยชน์จากความรู้ที่เด็กมี เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กหมดความสนใจในการเรียนคือ ครูมักคิดว่าเด็กอายุยังน้อยหรือมาจากครอบครัว/ชุมชนที่มีพื้นความรู้และ ประสบการณ์แตกต่างไปจากของครู หากครูรู้จักเลือกใช้ตัวอย่างจากโลกที่เด็กรู้จัก เด็กๆ จะเกิดความตื่นตัวที่จะเรียนรู้
  11. พยายามสื่อสารกับเด็กด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย อย่าทำให้เด็กเกิดความสับสนกับการใช้ศัพท์วิชาการยากๆ โดยครูควรเลือกใช้คำง่ายๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันแทน
  12. เวลาที่ครูต้องพาเด็กออกไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน หมั่นเปลี่ยนวิธีเดินเรียงแถวทุกครั้ง เช่น อาจให้เด็กเดินตามลำดับความสูง ตามวันเกิด หรืออาจให้เด็กหญิงเดินสลับกับเด็กชาย เป็นต้น ในขณะที่เดิน ให้เด็กนับสิ่งต่างๆ ที่พบเจอรอบตัว เช่น รถยนต์ อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ฯลฯ เพื่อฝึกทักษะด้านการสังเกตและด้านคณิตศาสตร์ไปในตัว
  13. บางครั้งครูไม่ควรให้ความสนใจจนเกินไปกับเด็กที่สร้างปัญหาในห้อง เช่น เด็กที่ชอบพูดคุย ยั่วแหย่เพื่อน ฯลฯ โดยเฉพาะหากการสนใจนั้นทำให้บรรยากาศของห้องเรียนทั้งหมดสะดุดลง หรือในกรณีที่ห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนมากกว่า 20 คนขึ้นไป วิธีที่ดีที่สุดประการหนึ่งคือพยายามให้เด็กทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการ เรียน บางครั้งเด็กอาจจะสร้างปัญหาบางอย่างขึ้นมาอีก แต่พฤติกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่นาน ถ้าเด็กเห็นว่าเพื่อนๆ กำลังเรียนสนุกและไม่สนใจตน
ขอขอบคุณ http://www.krooupdate.com/

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ผลการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1